บุคคลที่มาเยี่ยมชม

วันจันทร์ที่ 5 กันยายน พ.ศ. 2554

10 เทคนิคการถ่ายภาพภูเขา (ภาค1)

อลังการแห่งขุนเขา

ตั้งแต่การถ่ายภาพได้ถือกำเนิดขึ้น กล้องกับการเดินทางคล้ายเป็นของคู่กันอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ โลกอันกว้างใหญ่ไพศาลมีหลากหลายเรื่องราวให้นักเดินทางได้ค้นหา และช่างภาพก็เป็นหนึ่งในผู้บันทึกเรื่องราวเหล่านั้นลงสู่ภาพถ่าย ตั้งแต่แมลงตัวเล็กๆ ไปจนถึงมหาสมุทรอันแสนกว้างใหญ่ และหนึ่งในสิ่งที่ช่างภาพนักเดินทางทั้งหลายชื่นชอบคงจะหนีไม่พ้นภูเขาตระหง่านตระการตา อันแสดงถึงความยิ่งใหญ่อลังการในภาพถ่ายได้เป็นอย่างดี เทคนิคในการถ่ายภาพภูเขาก็มีอยู่มากมายหลายประการ แต่ครั้งนี้ได้รวบรวมหัวใจสำคัญที่จะทำให้สามารถสร้างผลงานถ่ายภาพภูเขาได้อย่างสวยสดงดงามไว้ด้วยกัน 10 ข้อ ลองอ่านดูแล้วจะพบว่าภาพถ่ายภูเขาที่สะกดผู้ชมมานักต่อนัก คุณเองก็สามารถทำได้เช่นเดียวกัน
1. วางแผนและค้นคว้า ก่อนออกเดินทาง ช่างภาพควรใช้เวลาสักนิดในการค้นคว้าหาข้อมูล ทำความรู้จักกับที่ๆ จะไปให้ดีเสียก่อน เพื่อเป็นการวาง แผนการเดินทางให้คุ้มค่าและใช้เวลาได้อย่างเกิดประโยชน์มากที่สุด เช่น พระอาทิตย์ขึ้นและตกในตำแหน่งใด ช่างภาพจะได้อยู่ถูกที่ถูกเวลาและรู้ทิศ ทางของแสง ว่าช่วงเช้า ช่วงบ่าย และช่วงเย็นจะไปถ่ายภาพในตำแหน่งใด ก่อนหรือหลัง ถ่ายภาพพระอาทิตย์ขึ้นหรือตกยังจุดใด ซึ่งจะทำให้ช่างภาพสามารถวางแผนใช้ช่วงเวลาของแสงได้อย่างเต็มที่ตลอดทั้งวัน รวมทั้งฤดูกาลที่เหมาะสมเช่น ฤดูร้อน ฤดูฝน หรือฤดูหนาว
2. ใช้ผลจากการถ่ายภาพระยะไกลด้วยเลนส์เทเลโฟโต้ การถ่ายภาพวิวทิวทัศน์หรือภูเขาไม่จำเป็นต้องใช้เลนส์มุมกว้างเสมอไป เลนส์เทเลโฟโต้ก็สามารถนำมาถ่ายภาพวิวได้เช่นกัน แถมยังให้ความรู้สึกที่แตกต่างออกไป ช่างภาพอาจใช้เลนส์เทเลโฟโต้ในการถ่ายภาพเพื่อเน้นเฉพาะส่วนที่น่าสนใจซึ่งจะส่งผลต่อความรู้สึกและมีพลังในภาพมากยิ่งขึ้น การใช้รูรับแสงถ้าต้องการให้วัตถุภายในภาพชัดเจนทุกส่วนก็ควรใช้รูรับแสงแคบ เช่น F22 หรือ F32 แต่ปัญหาที่ตามมาคือความเร็วชัตเตอร์ต่ำต้องใช้ขาตั้งกล้องที่มั่นคงแข็งแรงและใช้ร่วมกับสายลั่นชัตเตอร์ทุกครั้ง หากไม่มีก็ใช้ระบบตั้งเวลาถ่ายภาพอัตโนมัติก็ได้
3. มองหาการสะท้อน ช่างถ่ายภาพภูเขามืออาชีพมักขวนขวายและเสาะหาบางสิ่งบางอย่างที่เหนือกว่าและน่าสนใจเพิ่มเติมลงในภาพ เพื่อให้ได้ผลงานที่แตกต่างไปจากภาพผลงานแบบเก่าๆ ภูเขาลูกเดียวกันแต่อาจเปลี่ยนมุมมองด้วยการส่งภูเขาลงสู่ทะเลสาบหรือหนองน้ำที่กว้างใหญ่ ทำให้เกิดเป็นภาพสะท้อนขึ้น ซึ่งจะส่งผลให้ภาพถ่ายมีความน่าสนใจและเพิ่มเรื่องราวให้กับภาพได้เป็นอย่างดี
4. สร้างภาพให้มีมิติ ช่างภาพควรมองหาส่วนประกอบสำคัญที่สามารถเติมเต็มพื้นที่ในภาพนอกเหนือจากตัวภูเขาอันจะส่งผลทำให้เกิดความ ต้องตาต้องใจมากยิ่งขึ้น เช่น การหาวัตถุที่น่าสนใจรวมเข้าเป็นฉากหน้า อาจจะเป็นเงาดำของต้นไม้ใหญ่ ทุ่งดอกไม้ น้ำตก หรือแม้แต่บรรยากาศในตัวมันเองเป็นต้น ทำให้เกิดมิติที่แตกต่างกันในส่วนที่อยู่ใกล้และฉากหลังที่อยู่ไกลออกไป ภาพในลักษณะนี้ภูเขาอาจเป็นส่วนสำคัญรองลงไปกว่าฉากหน้าก็ได้ เพราะอย่างไรเสียภูเขาก็ยังคงเป็นบรรยากาศที่น่าสนใจในภาพอยู่ดี

5. มองจากมุมที่สูงกว่า เป็นเรื่องง่ายและเบสิคมาก สำหรับการถ่ายภาพภูเขาจากระดับพื้นดิน สิ่งที่จะทำให้ภาพเร้าอารมณ์มากขึ้นคือ การขึ้นไต่ขึ้นไปสู่ที่สูงแล้วบันทึกโลกจากมุมมองที่เหนือกว่า นำเสนออีกทิศทางหนึ่งของภูเขาที่แตกต่างออกไป ช่างภาพต้องใช้ความพยายามมากสักหน่อยกว่าจะได้มุมมองดังกล่าว อาจต้องเดินทางขึ้นเขากันเป็นวันๆ แต่รับรองว่าคุ้มค่ากับสิ่งที่จะได้กลับมาอย่างแน่นอน ทั้งภาพถ่ายและความรู้สึก ช่างภาพอาจเพิ่มเรื่องราวในขณะเดินทางไต่เขาก็จะยิ่งเติมเต็มเนื้อหาให้กับภาพถ่ายภูเขามากยิ่งขึ้น

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น